ตำรวจไซเบอร์ -สสจ.ขอนแก่น บุกรวบเจ้าของเพจขายยาหนองใน และยาอันตราย โดยไม่ได้รับอนุญาต สืบเนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมายัง สสจ.ขอนแก่น ว่าได้สั่งยารักษาหนองในจากเพจเฟซบุ๊ก “ยารักษาหนองใน แท้ เทียม 1 วันแบบเร่งด่วน” ไปรับประทานเองแล้วมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา จึงได้ประสานมายัง กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 บช.สอท. ทำการตรวจสอบเพจดังกล่าว พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้สืบสวนกรณีดังกล่าว เนื่องจากการการขายยาออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตมีความเสี่ยง อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และอาจเกิดอันตราย โดยผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา และได้รับข้อร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ได้สั่งการให้ว่าที่ พ.ต.อ.อดิชาต อมรประดิษฐ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 นำชุดสืบลงพื้นที่ร่วมกับ สสจ.ขอนแก่น ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และพนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น นำหมายค้นศาลจังหวัดขอนแก่นที่ 797/2567 ลงวันที่ 3 ก.ย.67 เข้าตรวจค้นหอพักแห่งหนึ่งย่านมหาวิทยาลัยชื่อดัง ในพื้นที่ ม.16 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น พบนายอธิก อายุ 31 ปี บุคคลเป้าหมายพักอาศัยอยู่ในห้องพักของหอพักดังกล่าว จากการตรวจค้นพบ ยาอันตรายกลุ่มยาปฏิชีวนะ ได้แก่ Sixime CAPSULE , N.L. DOXY CAPSULES , ยาน้ำ บรรจุอยู่ในขวดแก้วสีชา บนขวดระบุชื่อการค้า โปโด. เพนท์ โค. , พาราเซตตามอล ชนิดเม็ดสีฟ้า บรรจุอยู่ภายในกระปุกสีขาว รวมทั้งสิ้น 4,000 เม็ด และโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการกระทำความผิด โดยใช้ทำการโฆษณายาและติดต่อกับลูกค้าที่สั่งซื้อยา เบื้องต้น นายอธิก รับสารภาพว่า เพจดังกล่าวเป็นของตนจริง สร้างเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว มีผู้ติดตามประมาณเจ็ดพันคน โดยได้ทำการสร้างเพจเพื่อโฆษณายาที่ใช้รักษาโรคหนองในให้กับประชาชนทั่วไปทางออนไลน์ เนื่องจากเห็นช่องทางว่าผู้ที่มีอาการดังกล่าวมักจะเขินอายและไม่กล้าไปพบแพทย์หรือซื้อยาด้วยตนเอง ตนจึงสร้างเพจมาเพื่อขายยาดังกล่าว ส่วนยาที่ตรวจพบ เป็นยาที่เตรียมไว้สำหรับจัดส่งให้ลูกค้าที่มาสั่งซื้อ โดยจะทำการสั่งยาจากร้านขายยาใจจังหวัดขอนแก่นมาจัดส่งอีกที ก่อนที่จะแยกบรรจุส่งตามออเดอร์ของลูกค้า มีรายได้เฉลี่ยวันละ สามถึงสี่พันบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อหา “จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต , โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ”พร้อมนำตัวส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จำนวนมากที่สั่งซื้อยาทางสื่อออนไลน์มารักษาตัวเองแล้วเกิดอาการข้างเคียงและปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาแผนปัจจุบันในกลุ่มยาอันตรายที่ต้องขายในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตขายยา และมีเภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบยา หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ 2510 รวมถึงการโฆษณาขายยาดังกล่าวออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตถือว่าผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท