ตำรวจไซเบอร์รวบสาวเบญจเพส 3 หมายจับ เครือข่ายอ้างบริษัทบัตรเครดิต เหยื่อคุยตำรวจเก๊มีเนียนแทรกเสียงวิทยุ สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 พ.ย.65 ขณะที่กำลังพักอยู่ที่บ้าน ได้มีมิจฉาชีพเป็นผู้หญิงโทรเข้ามาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทบัตรเครดิต KTC แจ้งว่าผู้เสียหายได้เปิดบัตรเครดิตที่ธนาคารแห่งหนึ่ง สาขาโคราช และใช้บัตรดังกล่าวไปรูดเงินซื้อทองคำ ในราคา 98,653 บาท เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ผู้เสียหายจึงปฏิเสธไม่ใช่เจ้าของบัตร หญิงคนดังกล่าวจึงแนะนำให้แจ้งความกับตำรวจ สภ.โคราช จากนั้นมิจฉาชีพจึงโอนสายไปให้ชายปริศนาที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้ให้ผู้เสียหายแอดไลน์ชื่อ “สภ.เมืองนครราชสีมา” และได้ส่งรูปบัตรตำรวจให้ผู้เสียหายดู จากนั้นได้ขอข้อมูลส่วนตัวผู้เสียหายเพื่อไปตรวจสอบ โดยขณะคุยสายนั้น มีการสร้างสถานการณ์โดยมิจฉาชีพให้บุคคลที่ 3 แสร้งทำเป็นพูดวิทยุเข้ามา และเอ่ยชื่อผู้เสียหาย พร้อมพูดว่าพบการพัวพันกับคดีฟอกเงินโดยมีความเกี่ยวพันกันหลายคน ต่อมามิจฉาชีพจึงขอข้อมูลว่าผู้เสียหายมีบัญชีธนาคารของแต่ละธนาคารกี่บัญชี และใช้งานแอป Mobile Banking ของธนาคารใดบ้าง และมีเงินในบัญชีเท่าไหร่ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้ข้อมูลไป ต่อมามิจฉาชีพจึงส่งเอกสารที่อ้างว่ามาจาก ป.ป.ง. เพื่อขอตรวจสอบเส้นทางการเงิน และแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินไปตรวจสอบ ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อโอนเงินไปหมดทุกบัญชี รวมทั้งสิ้นจำนวน 197,599 บาท เมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอกลวงจึงได้เข้าแจ้งความในเวลาต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ร่วมกันสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว สามารถขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ร่วมกระทำผิดได้หลายราย กระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 3 ก.ย. 67 พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.อุกฤช ศรีนิติวรวงศ์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.5 ส่งชุดสืบสวนออกติดตามจับกุมตัว 1 ในผู้ต้องหาของขบวนการดังกล่าว จนสามารถจับกุมตัว นางสาวศิริวรรณ อายุ 25 ปี ชาวพิจิตร ตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ตที่ 84/2566 ลงวันที่ 20 ก.พ.66 ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นโดยทุจริต เพื่อหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพื่อให้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” โดยควบคุมตัวได้บริเวณ สถานีรถไฟอยุธยา ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นำส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย เบื้องต้น นางสาวศิริวรรณฯ ให้การภาคเสธ โดยยอมรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีที่ใช้หลอกให้โอนเงินจริง โดยได้รู้จักกับคนที่ว่าจ้างเปิดบัญชีผ่านทางเฟชบุ๊ก ได้ค่าตอบแทนจำนวนบัญชี 1,000 บาทต่อบัญชี นอกจากนี้ จากข้อมูลการสืบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบอีกว่า นางสาวศิริวรรณ ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอศาลออกหมายจับอีกจำนวน 2 หมาย ในความผิดลักษณะเดียวกันซึ่งเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้แก่ 1. หมายจับศาลอาญาตลิ่งชัน ที่ 521/ 2566 ลงวันที่ 25 ก.ย.66 ในความผิดฐาน “เป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และโดยทุจริตหรือหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” เบื้องต้นมีมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 178,996.00 บาท 2. หมายจับศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ 24/2566 ลงวันที่ 1 พ.ค.66 ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นผู้อื่น,ร่วมกันโดยทุจริต โดยหลอกลวงนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดนประการที่น่าจะเกิดคว่ามเสียหายแก่ประชาชน”