เจ้าพนักงานตำรวจงดเว้นไม่กระทำการสืบสวนจับกุมการกระทำความผิดอาญาอันเกี่ยวกับการค้าประเวณีในสถานบริการอาบอบนวด คดีนี้ได้มีการกล่าวหา ดาบตำรวจ ก. ขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สถานีตำรวจท่องเที่ยว 2 กองกำกับการ 1 สังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหา ว่ากระทำทุจริตในภาครัฐ โดยมีหน้าที่จับกุมปราบปรามได้บังอาจเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน โดยเรียกรับเงิน จากผู้มีชื่อเป็นผู้แทนของเจ้าของสถานบริการอาบอบนวด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ทั้งนี้ เพื่องดเว้นไม่กระทำการสืบสวนจับกุมการกระทำความผิดอาญาอันเกี่ยวกับการค้าประเวณีและความผิดอื่นๆ ที่ได้เกิดหรือจะเกิดมีขึ้นในสถานบริการอาบอบนวด ในตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของจำเลยอันมิชอบด้วยหน้าที่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและราชการได้รับความเสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 29/2563 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยชี้มูลความผิดว่า การกระทำของดาบตำรวจ ก. ผู้ถูกกล่าวหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และมาตรา 123/2 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด และพนักงานอัยการได้ดำเนินการยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหา เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 192/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 149/2565 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) , พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวม 33 กระทง จำคุก 165 ปี แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้ว ให้จำคุก 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า ศาลพิพากษาจำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์ครบถ้วนแล้ว เห็นควรไม่อุทธรณ์ คณะกรรมการ ป.ป.ท. ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 มีมติเห็นชอบไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ส่วนจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีหมายเลขดำที่ อท 333/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 1530/2567 พิพากษาแก้เป็น จำเลยกระทำความผิด 19 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 95 ปี คงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 42/2567 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 มีมติเป็นเอกฉันท์ ดังนี้ ประเด็นความผิดตามฟ้องข้อ 2.14 ถึงข้อ 2.24 และข้อ 2.26 ถึงข้อ 2.33 รวม 19 กระทง เห็นชอบไม่ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ตามความเห็นของพนักงานอัยการ เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง โดยไม่รอการลงโทษแก่จำเลย ชอบแล้ว จึงเห็นควรไม่ฎีกาซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของพนักงานอัยการ ส่วนประเด็นความผิดตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.13 และข้อ 2.25 รวม 14 กระทง เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของพนักงานอัยการ และเห็นควรฎีกาในประเด็นดังกล่าวต่อไป