ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบ 2 ผู้ต้องหา ขบวนการหลอกเหยื่อลงทุนหุ้นอเมริกาหมายจับรวมกันกว่า 60 หมายจับ ความเสียหาย 1,000 ล้านบาท

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบ 2 ผู้ต้องหา ขบวนการหลอกเหยื่อลงทุนหุ้นอเมริกา
หมายจับรวมกันกว่า 60 หมายจับ ความเสียหาย 1,000 ล้านบาท

​กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.เมฆพิศาล ศรีภิรมย์ ผกก.5 บก.ปอศ., พ.ต.ท.ภูวเดช จุลกะเสวี, พ.ต.ท.วิวัฒนชัย คลื่นแก้ว, พ.ต.ท.จักรี กันธิยะ, พ.ต.ท.พิทยา คงเจริญ รอง ผกก.๕ บก.ปอศ.
​เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.สุทธิพงษ์ มอญรัต สว.กก.๕ บก.ปอศ. พร้อมด้วย ร.ต.อ.สมบูรณ์ ควรชม รอง สว.(ป.) กก.๕ บก.ปอศ., ด.ต.คัมคุณ บุญครอบ, ด.ต.ศุภชัย เอกจีน, ด.ต.ชัยวัฒน์ เขียวอิ่ม, ด.ต.อติกันต์ เปรมสุข, จ.ส.ต.เจษฎา สายติ๊บ, จ.ส.ต.ธีระเดช ลำสมุทร และส.ต.อ.บรรเจิด คำเหลื่อม ผบ.หมู่ กก 5 บก.ปอศ.
​ร่วมกันจับกุม
​๑. นางกัญญาภัคฯ อายุ 52 ปี
​๒. นายนครินทร์ฯ อายุ 30 ปี
​ผู้ต้องหาตามหมายจับรวมกว่า ๕๙ หมายจับ ซึ่งกระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกง”
​สถานที่จับกุม ถ.พุทธมณฑลสาย 1 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
​พฤติการณ์ เมื่อประมาณ พ.ศ.2559 บริษัทเอกชนฯ แห่งหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการขายตรง และให้คำปรึกษาทางธุรกิจขายตรงสินค้าเพื่อสุขภาพทุกประเภท อ้างว่าทางบริษัทจะนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอเมริกา จึงประกาศระดมทุนให้ผู้ที่สนใจ โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็น แพ็กเกจ และหากมีการชักชวนคนอื่นๆ มาลงทุนได้อีก ผู้ชักชวนจะได้สิทธิซื้อหุ้นของบริษัทในราคาพิเศษ และได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยบริษัทได้มีการจัดสัมมนา ดูงานให้ความรู้เรื่องการระดมทุน การออมในหุ้น จนมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งวันที่ 22 พ.ย.2562 ผู้เสียหาย ๑๕ ราย ที่เป็นนักลงทุนหุ้นกับบริษัทดังกล่าว ได้รวมตัวกันมาร้องทุกข์กับทีมข่าว “รายการสถานีประชาชน” โดยเเจ้งว่าหลังลงทุนซื้อหุ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนผ่านมานานถึง 4 ปี บริษัทได้อ้างว่าหุ้นยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์อเมริกา ไม่สามารถปันผลกำไรให้ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถทำการถอนหุ้นได้อีก ซึ่งเมื่อตรวจสอบภายหลังยังพบว่าบริษัทได้ปิดตัวลงไปแล้ว เบื้องต้นรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
โดยหนึ่งในผู้ลงทุนกล่าวว่า ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อหุ้น ได้มีเพื่อนแนะนำ และชักชวนให้มาลงทุน อีกทั้งยังมีโอกาสได้ไปร่วมสัมนากับบริษัทในการให้ข้อมูล บริหารจัดการเงินออม และมีที่ตั้งของบริษัท รวมถึงมีใบจดแจ้งตลาดหุ้นในอเมริกา จึงทำให้มั่นใจและเชื่อมั่นว่าหากลงทุนไปแล้วจะได้ผลกำไรสูง จึงตัดสินใจซื้อหุ้นไปกว่า 5 ล้าน อีกทั้งยังได้มีการชักชวนเพื่อน และญาติพี่น้องร่วมลงทุนด้วย ซึ่งขั้นตอนในการซื้อหุ้น ทางบริษัทจะมีการเสนอขายแบบแพ็กเกจ โดยให้ผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อได้ตามแพ็กเกจ ดังนี้
​1. ซื้อในราคา 150 เหรียญ แต่ไม่สามารถซื้อหุ้นได้
2. ซื้อในราคา 1,000 เหรียญ แถมหุ้นฟรี 2,400 หุ้น
3. ซื้อในราคา 2,500 เหรียญ แถมหุ้นฟรี 6,500 หุ้น
4. ซื้อในราคา 3,000 เหรียญ แถมหุ้นฟรี 9,600 หุ้น
5. ซื้อในราคา 7,500 เหรียญ แถมหุ้นฟรี 24,000 หุ้น
จากแพ็กเกจดังกล่าวของหุ้น ทำให้ผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหุ้นในแพ็กเกจตั้งแต่ 2,500 เหรียญ เพราะจะสามารถซื้อหุ้นเพิ่มข้างนอกได้อีก ทั้งนี้การซื้อหุ้นในช่วงแรกๆ ยังเป็นการซื้อในราคาต่ำ ที่มีราคา หุ้นละ 0.0003 ซึ่งเป็นหุ้นในราคาต่ำมาก และหากเข้าตลาดอเมริกาไปแล้ว ราคาหุ้นจะเพิ่มมูลค่าเป็น 3-5 เหรียญ โดยคิดง่ายๆ ว่าหากลงทุนซื้อหุ้น 100,000 บาท หากเข้าตลาดหุ้นอเมริกา ราคาหุ้นจะได้กำไรทั้งหมดประมาณ 5 ล้านบาท จึงทำให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทฯ​ ไว้
จากการสืบสวนพบว่าขบวนการนี้มีผู้ต้องหาหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีไปยังต่างประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนทราบว่ายังมีผู้ต้องหา 2 ราย ที่หลบหนีอยู่ภายในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 4 ปี โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย มีหมายจับรวมกันจำนวน 59 หมายจับ ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ บุรีรัมย์ พิษณุโลก แสดงให้เห็นว่ามีผู้เสียหายกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยทั้ง 2 ราย มีการหน้าที่เป็นกรรมการบริษัท และผู้รับผลประโยชน์ ของบริษัท
ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 2 รายทราบว่าตนเองมีหมายจับและหลบหนีการจับกุมมาโดยตลอด ทำให้ยากต่อการติดตามจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเฝ้าติดตามสะกดรอยนานกว่า 1 เดือน จนสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 รายนี้ได้
จากการสอบถามผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีการซื้อขายหุ้นถูกต้องสามารถตรวจสอบได้
สุดท้ายนี้ ตำรวจสอบสวนกลาง ขอแจ้งเตือนประชาชนว่า ปัจจุบัน มิจฉาชีพมักโฆษณาชักชวนลงทุนในหุ้นหรือคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือขายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย รวมถึงกรณีมีคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักมาชวนให้ลงทุน อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงได้ในเวลาอันรวดเร็ว และหากชวนคนอื่นได้ก็จะมีโบนัสเพิ่ม เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้เพิ่มจนไม่สามารถจ่ายเงินได้ หรือได้เงินจำนวนมากเพียงพอแล้ว ก็จะหลบหนีไปสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมี 4 ข้อสังเกตดังนี้
1. ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น
2. การันตีผลตอบแทน
3. เร่งรัดให้ตัดสินใจ
4. อ้างว่าใคร ๆ ก็ลงทุน



You May Also Like