”กฤษฎา ทนายปราบโกง“ ร้อง ปปป.ดำเนินคดี ม.157 ผกก.บก.ปทส.เอื้อ ปย.บริษัทแป้งมันสำปะหลังปล่อยน้ำเสีย
เมื่อ เวลา 11.00 น. วันที่ 21 ก.พ.67 ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พหลโยธิน จตุจักร กทม. นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความฉายาทนายปราบโกง เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน บก.ปปป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย ผู้กำกับ 3 บก.ปทส. 1 นาย และกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโรงงานแป้งมันสำปะหลังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 6 คน ที่ร่วมกันสนับสนุนการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
นายกฤษฏา เปิดเผยว่า เมื่อ วันที่ 24 ส.ค.66 เวลา 10.00 น. ผู้กำกับคนดังกล่าวพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร นครราชสีมา (สปก)ได้มีการประชุมเพื่อสรุปข้อเท็จจริงจากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับโรงงานแป้งมันสำปะหลังประกอบกิจการ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและปล่อยน้ำเน่าเสียลงไปในที่ดินของ สปก.ประมาณ 300 ไร่
ในการประชุมครั้งนั้นได้เชิญสื่อมวลชนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์และรายงานข่าว
โดยในที่ประชุมได้มีการนำภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นที่ตั้งของที่ดิน สปก. ตรงตามที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา และมี ผอ.กลุ่มนายช่างอาวุโสของ สปก.อยู่ในห้องประชุมด้วย นายตำรววจคนดังกล่าวได้แถลงต่อที่ประชุมว่า
“ถ้าตรวจพบว่ามีการกระทำความผิดด้วยการปล่อยน้ำเน่าเสียลงบนที่ดินของ สปก.จริง ตนจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างไม่ละเว้น”
ต่อมาช่วงบ่าย ผู้กำกับ คนดังกล่าว และ ผอ.กลุ่มนายช่าง สปก.พร้อมคณะได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปทส.หลายนายเข้าไปตรวจสอบภายในโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
แต่กลับไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวติดตามเข้าไปภายในโรงงานด้วยถึงอย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวพร้อมกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนก็ยังมีความหวังว่า ผู้กำกับท่านนี้จะออกมาพบผู้สื่อข่าวและชาวบ้านที่รออยู่
พร้อมทั้งตรวจสอบสภาพที่ดินของ สปก.ซี่งอยู่ด้านหลังโรงงานและเป็นจุดปล่อยน้ำเน่าเสียและ ผู้กำกับ จะต้องเก็บตัวอย่างน้ำด้านหลังโรงงานไปตรวจพิสูจน์ตามอำนาจหน้าที่ด้วย
แต่ ผู้กำกับท่านนี้เข้าไปในโรงงานนานหลายชั่วโมงสุดท้ายก็หลบหน้าหนีผู้สื่อข่าวออกด้านหลัง ปล่อยให้ชาวบ้านที่เฝ้าอยู่รอเก้อและผิดหวังที่ไม่ได้พบ ผู้กำกับ จึงเห็นว่ามีข้อพิรุธ อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าของโรงงานดังกล่าว
หลังจากนั้นเพียงหนึ่งวันผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้กำกับนายดังกล่าว ได้ชี้แจงว่า
”หากมีการสรุปผลตรวจสอบเป็นเช่นไรจะแจ้งให้สื่อมวลชนรับทราบ“
ต่อมาประมาณกลางเดือน ก.ย.66 ตนได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับปฎิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา และ ผอ.กลุ่มช่าง คนที่เข้าไปในโรงงานในวันที่ 24 ส.ค.66 พร้อมกับผู้กำกับท่านนั้น โดยแจ้งข้อหา ม.157
ต่อมาปลายเดือน พ.ย.66 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติส่งเรื่องกลับมาให้ บก.ปปป.ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ สปก.ทั้งสองนาย ในข้อหา ม.157 แล้ว
ดังนั้น การที่ ผู้กำกับท่านนี้ มีการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ทำให้เจ้าของโรงงานไม่ต้องถูกดำเนินคดีใดๆ ทั้งที่มีพยานหลักฐานอย่างเพียงพอแล้วที่จะดำเนินคดีได้ การละเว้นปฎิบัติหน้าที่จึงทำให้เจ้าของโรงงานสามารถประกอบกิจการสร้างความเสียหายให้แก่ที่ดินของ สปก.เกือบ 300 ไร่ และทำให้ประชาชนต้องทนทุกข์ทรมานกับกลิ่นเหม็นและมลพิษจากน้ำเน่าเสียต่อไป อีกทั้งการที่ ผู้กำกับท่านนี้เพิกเฉยไม่ออกไปตรวจสอบสภาพที่ดินของ สปก.ในวันที่ 24 ส.ค.66 ย่อมแสดงให้เห็นว่า มีการละเว้น การปฎิบัติหน้าที่อย่างชัดแจ้ง
ส่วนเจ้าของโรงงานก็มีการลักลอบขุดดินในที่ สปก.หลายร้อยไร่ให้เป็นบ่อเพื่อปล่อยน้ำเน่าเสียลงไปในบ่อที่ 1 บ่อที่ 2 และบ่อที่ 3 ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อต้องการกระจายน้ำเน่าสียออกไปให้พ้นจากโรงงานโดยไม่ต้องติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงมากเกือบ 200 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดใหญ่มีกำลังการผลิตสูงมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันนี้ตนจึงต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ บก.ปปป.ดำเนินคดีกับ ผู้กำกับ ท่านนี้ รวมทั้งเจ้าของโรงงานและกรรมการ รวม 7 คน ตามมาตรา 157
เบืัองต้นพนักงานสอบสวน ได้รับเรื่องไว้เสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป